โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๙ จังหวัดนราธิวาส
ประวัติโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๙ จังหวัดนราธิวาส
รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ โดยสร้างความเสมอภาคและเพิ่มโอกาสโดยเข้าถึงการบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วไปในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาเห็นควรจัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๙ จังหวัดนราธิวาส โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๐ จังหวัดปัตตานี โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๑ จังหวัดยะลา โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๒ จังหวัดสตูล และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๓ จังหวัดสงขลา พร้อมกัน ๕ โรงเรียน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้เด็กในพื้นที่ส่วนหนึ่งต้องสูญเสียบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดเด็กกำพร้าไม่มีผู้ดูแลเลี้ยงดู มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และการพัฒนาประเทศ รัฐบาลเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้มีความรู้ มีทักษะพื้นฐานทางวิชาชีพ และมีคุณภาพหรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีทักษะในการดำรงชีวิต มีความคิดสร้างสรรค์ มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ถูกต้อง
สามารถเป็นสื่อกลางระหว่างรัฐบาลกับชุมชน เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนให้มีความเข้มแข็งเจริญก้าวหน้า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๙ – ๔๓ จำนวน ๕ โรงเรียน ในคราวเดียวกัน และเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ เวลา ๑๔.๓๐ – ๑๕.๐๙ฤกษ์ดิถีในการวางศิลาฤกษ์ในสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๙ จังหวัดนราธิวาส โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส (นายประชา เตรัตน์) เป็นประธานในพิธี
เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ประกาศจัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๙ จังหวัดนราธิวาส โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจาตุรนต์ ฉายแสง)
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๙ จังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ นธ.๕๙๐ บ้านบ่อทอง ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส มีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๗๕ ไร่ การก่อสร้างดำเนินการปรับพื้นที่การก่อสร้างโดยกองพันภาคที่ ๒ กระทรวงกลาโหม ซึ่งให้ทหารช่างกองพลพัฒนาที่ ๒ จังหวัดนครราชสีมา
ทิศเหนือ ติดต่อกับคลองชลประทาน
ทิศใต้ ติดต่อกับหมู่บ้านบ่อทอง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับถนนสาธารณะประโยชน์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับทางรถไฟสายใต้
เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ จนถึงปัจจุบัน
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.rpg39.ac.th/